หลักธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการดังนี้
1. หลักนิติธรรม คือ การตรากฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับและกติกาต่าง ๆ
ให้ทันสมัยและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของสังคมและสมาชิก โดย
มีการยินยอมพร้อมใจและถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม
กล่าวโดยสรุป คือ สถาปนาการปกครองภายใต้กฎหมาย มิใช่
กระทำกันตามอำเภอใจหรืออำนาจของบุคคล
2. หลักคุณธรรม คือ การยึดถือและเชื่อมั่นในความถูกต้องดีงาม
โดยการรณรงค์เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีงามให้ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือสมาชิก
ของสังคมถือปฏิบัติ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริตความเสียสละ ความอดทน
ขยันหมั่นเพียร ความมีระเบียบวินัย เป็นต้น
3. หลักความโปร่งใส คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดเผย
ข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา และสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้
โดยการปรับปรุงระบบและกลไกการทำงานขององค์กรให้มีความโปร่งใส
มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล
ข่าวสารได้สะดวก ตลอดจนมีระบบหรือกระบวนการตรวจสอบ
และประเมินผลที่มีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นการสร้างความไว้วางใจ
ซึ่งกันและกัน และช่วยให้การทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน
ปลอดจากการทุจริตคอรัปชั่น
4. หลักความมีส่วนร่วม คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคม
ที่ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ และร่วมเสนอความเห็นในการตัดสินใจสำคัญ ๆ
ของสังคม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วม
ได้แก่ การแจ้งความเห็น การไต่สวน สาธารณะ การประชาพิจารณ์
การแสดงประชามติ หรืออื่น ๆ และขจัดการผูกขาดทั้งโดยภาครัฐ
หรือโดยภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสามัคคีและความร่วมมือกัน
ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน
5. หลักความรับผิดชอบ ผู้บริหาร ตลอดจนคณะข้าราชการ
ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ต้องตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่
อย่างดียิ่ง โดยมุ่งให้บริการแก่ผู้มารับบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ
มีความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในหน้าที่การงานที่ตนรับผิดชอบอยู่
และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที
6. หลักความคุ้มค่า ผู้บริหาร ต้องตระหนักว่ามีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด
ดังนั้นในการบริหารจัดการจำเป็นจะต้องยึดหลักความประหยัดและความคุ้มค่า
ซึ่งจำเป็นจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายไปที่ผู้รับบริการหรือประชาชนโดยส่วนรวม
อ้างอิง : กรมการพัฒนาชุมชน. 2549. ความเป็นมาของหลักธรรมาภิบาล.
[Online].Available.URL : http://www.kmutt.ac.th/sd/html/pdf/tam.pdf